การจัดการสินทรัพย์องค์กร (Enterprise Asset Management: EAM) เป็นการผสมผสานระหว่างซอฟต์แวร์ การบริการ และระบบต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากอุปกรณ์และสินทรัพย์ที่มีอยู่ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เครื่องจักรไปจนถึงทรัพย์สินต่างๆ และยานพาหนะ ทั้งยังสามารถใช้ติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ รวมถึงการบำรุงรักษาและการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย และเมื่อผสานรวมเข้ากับการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ก็จะสามารถนำแนวทางเชิงกลยุทธ์มาปรับใช้กับสินทรัพย์ของคุณได้
บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับระบบ EAM พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยต่างๆ เช่น:
- ทำไมถึงต้องใช้ EAM
- EAM มีข้อดีอย่างไร
- EAM จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ได้อย่างไร
- EAM และ CMMS แตกต่างกันอย่างไร
- คุณจะเลือก EAM ที่เหมาะสมได้อย่างไร
ซอฟต์แวร์ EAM สามารถช่วยให้ทีมผู้บริหารโรงงานหรืออาคารสถานที่สามารถจัดการตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การรักษาอัตราส่วนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันต่อการบำรุงรักษาเชิงแก้ไขให้ได้สูงกว่าระดับ 75 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือการทำงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันในทุกๆ สามงานของทีมงานบำรุงรักษานั้น พวกเขาจะต้องดำเนินงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันเพียงงานเดียวเท่านั้น อัตราส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพของแนวทางการจัดการสินทรัพย์เชิงรุก ความมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และโอกาสที่ดีกว่าในการสร้างผลกำไร
ทำไมถึงต้องใช้ EAM
ระบบ EAM จะช่วยให้คุณมองเห็นสินทรัพย์และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อให้คุณได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจด้านการบำรุงรักษาที่ดีขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละวัน และการยกระดับความสามารถในการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้ในระยะยาว ระบบ EAM ยังช่วยให้คุณมีมุมมองเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ ซึ่งมักจะต้องเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับระบบ ERP
โดยระบบ EAM จะทำให้คุณมองเห็นข้อมูลที่ต้องการใช้ในการจัดการและดูแลสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ค่าวัสดุและค่าแรงที่จำเป็นในการบำรุงรักษาสินทรัพย์แต่ละรายการ รวมถึงข้อมูลที่สำคัญ เช่น ประเภทอุปกรณ์ สถานที่ สายการผลิต กลุ่มผลิตภัณฑ์ และอายุใช้งาน ซึ่งเมื่อคุณมีข้อมูลดังกล่าวพร้อมใช้ในมือ ก็จะสามารถเริ่มทำการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
EAM มีข้อดีอย่างไร
ข้อดีของ EAM คือการทำให้สินทรัพย์สามารถทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (HSE) รวมถึงช่วยให้มีการตัดสินใจโดยพิจารณาแยกตามสินทรัพย์ในระดับที่เหมาะสมกับองค์กรของคุณ
ดูแลสินทรัพย์ให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญของระบบ EAM คือการดูแลสินทรัพย์ให้สามารถทำงานต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากอุปกรณ์ไม่ทำงานหรือไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจทำให้รายได้ลดลง เพิ่มของเสีย และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประสบการณ์ของลูกค้าได้
ระบบ EAM จะเข้ามาช่วยคุณจัดการรายละเอียดต่างๆ ของงานด้านการบำรุงรักษา ทำให้ลด “เวลาเปิดเครื่อง” สำหรับกรณีที่ต้องปิดการทำงานของระบบหรือลดกรณีของการหยุดทำงานอันเนื่องมาจากขาดแคลนแรงงานหรือชิ้นส่วนอะไหล่ขาดสต็อก นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ในขณะที่ช่วยลดอัตราของเสียและปัญหาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเห็นได้ชัด
ตัดสินใจอย่างถูกต้องได้ทุกวัน
เพื่อช่วยให้สินทรัพย์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ระบบ EAM จะช่วยให้คุณสามารถทำการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น การซ่อม/การเปลี่ยนทดแทน หรือการจัดลำดับความสำคัญของสินทรัพย์
ตัวอย่างเช่น:
- เมื่อสินทรัพย์ใกล้สิ้นสุดอายุใช้งาน ระบบ EAM จะช่วยคุณตัดสินใจว่าควรดำเนินการซ่อมและเปลี่ยนทดแทนเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ของอุปกรณ์ เช่น แท่นเจาะหรือคอมเพรสเซอร์ หรือสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก เช่น สายการผลิตหรือโรงงานผลิตหรือแม้แต่กลุ่มโรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด
- ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ ERP ระบบ EAM สามารถช่วยคุณตัดสินใจในบริบททางธุรกิจที่ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น คุณสามารถคาดการณ์ได้ถึงประโยชน์ของการซ่อมในแง่ของรายได้หรือความพึงพอใจของลูกค้า หรือตัดสินใจได้ว่าควรชะลอการปิดระบบเพื่อซ่อมบำรุงไปก่อนหรือไม่หากมีคำสั่งซื้อของลูกค้ารอดำเนินการอยู่
- สำหรับในกรณีที่มีความต้องการแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ระบบ EAM อาจสามารถช่วยคุณจัดลำดับความสำคัญของสินทรัพย์บางอย่างเพื่อดำเนินงานบำรุงรักษา ซ่อมแซม ขยาย หรือเปลี่ยนใหม่ได้ตามสถานการณ์จริง
EAM จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ได้อย่างไร
นอกจากการสนับสนุนการตัดสินใจในแต่ละวันแล้ว ระบบ EAM ยังสามารถช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ระดับสูงได้ เช่น การบำรุงรักษาเชิงรุก การสนับสนุนการจัดการวงจรชีวิตสินทรัพย์ (ALM) หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ปฏิบัติการ (OEE) และในหลายกรณี ระบบ EAM ยังสามารถผสานรวมเข้ากับระบบ ERP เพื่อเพิ่มมูลค่าในการดำเนินงานได้อีกด้วย
เปลี่ยนจากการบำรุงรักษาเชิงรับมาเป็นเชิงรุก
ระบบ EAM สามารถช่วยคุณบริหารจัดการงานบำรุงรักษาเชิงรับ (ซ่อมแซมสิ่งต่างๆ หลังจากชำรุดเสียหายไปแล้ว) ไปจนถึงงานบำรุงรักษาเชิงรุก (ป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆ เกิดการชำรุดเสียหายตั้งแต่แรก) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะช่วยให้คุณสามารถรักษาอัตราส่วนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันต่อการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข (ซึ่งเป็น KPI ที่สำคัญ) ให้สูงเกินกว่า 75% ได้ กล่าวคือ การทำงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันในทุกๆ สามงานของทีมงานบำรุงรักษานั้น พวกเขาจะต้องดำเนินงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันเพียงงานเดียวเท่านั้น ตัวชี้วัดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังดำเนินการเชิงรุกสำหรับการบำรุงรักษา การเสริมสร้างประสิทธิภาพ และการสร้างกำไร
เดินหน้าสู่การบำรุงรักษาตามเงื่อนไข
ระบบ EAM พร้อมช่วยคุณพัฒนากลยุทธ์ด้านการบำรุงรักษา โดยคุณสามารถใช้เกณฑ์พยากรณ์เพื่อวางแผนกำหนดการบำรุงรักษาของคุณในเชิงรุกได้อย่างเห็นผล
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงเริ่มต้น คุณอาจจำเป็นต้องใช้แนวทางการบำรุงรักษาตามปฏิทิน ซึ่งเป็นการดำเนินการบำรุงรักษาตามช่วงเวลาที่กำหนด แต่เมื่อคุณมีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น ระบบ EAM สามารถขับเคลื่อนให้คุณก้าวสู่แนวทางตามเกณฑ์กำหนดโดยใช้ตัวชี้วัดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการสึกหรอได้ ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงานหรือจำนวนรอบการทำงาน เป็นต้น
และในกรณีที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลการวิเคราะห์ คุณจะสามารถดำเนินการบำรุงรักษาตามเงื่อนไขได้ โดยใช้ค่าต่างๆ เช่น อุณหภูมิ การสั่นสะเทือน ความดัน (หรือการเปลี่ยนแปลงของค่า) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบำรุงรักษาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งในท้ายที่สุด คุณก็จะได้แนวทางที่เหมาะสมในการผสานรวมการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์เข้ากับการบำรุงรักษาตามเงื่อนไขที่มีข้อมูลอย่างเช่นรอบการทำงานและโหลดแฟกเตอร์มาช่วยในการตัดสินใจและดำเนินงาน
เมื่อระบบ EAM ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจ ERP สภาพแวดล้อมการทำงานก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุลอย่างเหมาะสม เนื่องจากคุณไม่เพียงสามารถใช้ข้อมูล เช่น ระยะเวลาทำงานของอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังสามารถดึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์มาใช้ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การตัดชิ้นงานสเตนเลสสตีลมีโอกาสจะทำให้เครื่องจักรเกิดการสึกหรอมากกว่าการตัดชิ้นงานอะลูมิเนียม ดังนั้นข้อมูลผลิตภัณฑ์จึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้เป็นอย่างมาก
เป้าหมายหลักคือการกำจัดการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็น ซึ่งไม่เพียงเพื่อลดต้นทุนเท่านั้น แต่เนื่องจากกิจกรรมการบำรุงรักษาหลายอย่างอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะเกิดความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อการทำงานอย่างต่อเนื่องของเครื่องจักรด้วย
รองรับการบริหารจัดการวงจรชีวิตสินทรัพย์
ข้อดีเชิงกลยุทธ์อีกประการของระบบ EAM คือการช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการวงจรชีวิตสินทรัพย์ (ALM) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางนี้ทำให้คุณสามารถ “กำหนดอนาคตของคุณ” ด้วยการทำความเข้าใจว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่นั้นจะช่วยให้คุณส่งมอบผลิตภัณฑ์ บริการ และรายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร จากนั้นคุณสามารถออกแบบสินทรัพย์เพื่อพัฒนาและปรับให้เข้ากับความต้องการที่คาดหวังได้
นอกจากนี้ การบำรุงรักษายังได้รับการปรับให้เกิดความสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการบำรุงรักษาที่มากเกินไป ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และเมื่อสินทรัพย์เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป สินทรัพย์ดังกล่าวก็จะได้รับการบันทึกในระบบว่ามีสภาพ “ตามที่ได้รับการบำรุงรักษา”
แม้ว่าในบางจุดจะมีการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม แต่สินทรัพย์ก็อาจเสื่อมสภาพและจำเป็นต้องเริ่มวงจรสินทรัพย์ใหม่ อย่างไรก็ตามถือเป็นข้อดีของระบบ EAM ที่ทำให้ทีมวางแผนและวิศวกรรมสามารถเริ่มการทำงานด้วยการมองเห็นข้อมูลการบำรุงรักษาและการใช้งานสินทรัพย์ก่อนหน้าได้อย่างครอบคลุมทุกจุด สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการใช้งานสินทรัพย์ดังล่าว ซึ่งนำไปสู่ปรับปรุงการทำงานของสินทรัพย์ใหม่ได้ในท้ายที่สุด
ปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ปฏิบัติการ
เมื่อผสามรวมเข้ากับระบบ ERP แล้ว ระบบ EAM ยังสามารถช่วยปรับปรุง KPI อื่นๆ ได้ด้วย นั่นคือ: ประสิทธิผลโดยรวมของอุปกรณ์ (OEE) ซึ่งมีแนวคิดหลักคือการรวมข้อมูล EAM และข้อมูล ERP เข้ากับข้อมูลสมรรถนะของอุปกรณ์ที่รวบรวมได้จากเครื่องจักรแต่ละเครื่องหรือจากระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล (SCADA) เพื่อกำหนดวิธีการเพิ่มผลผลิตของเครื่องจักรให้ได้สูงสุด
ทั้งนี้ OEE จะวัดประสิทธิภาพการผลิตโดยคิดจากเวลาที่ใช้ในการผลิตในรูปของเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะให้ค่าประสิทธิผลได้อย่างแท้จริง ตามหลักการแล้ว บริษัทผู้ผลิตจะต้องมีชิ้นส่วนอะไหล่ที่ดี 100% เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วน รวมถึงจะต้องสามารถทำงานด้วยความเร็วสูงสุดและอุปกรณ์มีความพร้อมใช้งาน 100% แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถบรรลุผลได้เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนั้นจึงนำไปสู่แนวคิดในการหาสมดุลที่มีความเหมาะสมลงตัวอย่างสูงสุด
สิ่งนี้สอดคล้องกับขีดความสามารถของ EAM เนื่องจากข้อมูลในระบบ EAM สามารถนำมาใช้เพื่อติดตามและบันทึกการหยุดทำงานของเครื่องจักร ซึ่งสามารถเลือกดำเนินการด้วยตนเองหรือจะให้ระบบบันทึกข้อมูลอัตโนมัติผ่านทางเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” (Internet of Things: IoT) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการ EAM อื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ ความพร้อมของชิ้นส่วนทดแทนและบุคลากรด้านการบำรุงรักษา ในบางกรณี ปัจจัยด้านการดำเนินงานใน ERP ก็มีบทบาทโดดเด่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงคลังหรือวัตถุดิบที่มีอยู่
EAM และ CMMS แตกต่างกันอย่างไร
EAM แตกต่างจากระบบบริหารจัดการงานบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ (CMMS) ตรงที่มีความสามารถในด้านการจัดการสินค้าคงคลัง การเงิน และแม้แต่ทรัพยากรบุคคล (HR) ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ของคุณได้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น
ในความเป็นจริงแล้วนั้น โซลูชั่น EAM ยังสามารถทำหน้าที่เป็นระบบซอฟต์แวร์การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ได้อย่างสมบูรณ์สำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องสินทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่งพาอุปกรณ์หรือเงินทุน/สินทรัพย์ถาวรเพื่อสร้างรายได้
คุณจะเลือก EAM ที่เหมาะสมได้อย่างไร
ในการเลือกซอฟต์แวร์ EAM สิ่งสำคัญคือต้องมีความรัดกุมและต้องสามารถระบุความต้องการที่แท้จริงของธุรกิจให้ได้ ไม่เพียงแต่ในปัจจุบันแต่ต้องครอบคลุมถึงในอนาคตด้วย การใช้เวลาเพื่อพิจารณาว่าระบบ EAM สามารถตอบสนองความต้องการในอนาคตของคุณได้หรือไม่นั้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คุณสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
โดยในขั้นแรก ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าโครงการของคุณได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารหรือไม่ เพราะไม่เพียงเพื่อให้มีเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ใช้ทั้งองค์กรจะรับทราบและเข้าใจในระบบ EAM เมื่อมีการนำมาใช้งานจริง
เมื่อพิจารณาในด้านฟังก์ชั่นการทำงานแล้ว ระบบ EAM มีความชัดเจนและไม่ซับซ้อน กล่าวคือผู้ใช้ส่วนใหญ่จะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าระบบทำอะไรได้บ้าง เช่น ผู้ใช้สามารถดำเนินการใบสั่งงานโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ขณะที่กำลังยืนอยู่หน้าเครื่องจักรได้โดยไม่มีท่าทีลังเลสงสัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีองค์ประกอบเชิงกลยุทธ์ที่มากกว่านั้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ EAM มีความแตกต่างออกไป ต่อไปนี้เป็นคำถามบางอย่างที่อาจช่วยแนะนำคุณในการเลือกระบบ EAM มาใช้งานได้:
- EAM ให้การสนับสนุนในแต่ละช่วงของวงจรชีวิตสินทรัพย์อย่างไรบ้าง
- EAM รองรับโครงการขนาดใหญ่ขององค์กรได้ดีเพียงใด ซึ่งรวมถึงงานด้านวิศวกรรม การก่อสร้างหรือการผลิต การหยุดทำงานเพื่อซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เสื่อมสภาพ การขยายวงจรชีวิต และการติดตั้งระบบเพิ่มเติม
- ซอฟต์แวร์รองรับสัญญาการบำรุงรักษาหรือไม่ เช่น สามารถเสนอราคาอัตโนมัติและบริหารจัดการสัญญาได้หรือไม่
- EAM รองรับ OEE ได้ดีเพียงใด
และสุดท้าย ให้ถามตัวเองว่า EAM จะมีวิวัฒนาการในอนาคตอย่างไร ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์อย่างไรบ้างเมื่อเวลาผ่านไป คำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณคาดการณ์ได้ว่า EAM สามารถตอบสนองความต้องการในอนาคตของคุณได้หรือไม่